กรมการจัดหางาน แจงแนวทางพิสูจน์สัญชาติ และขอรับเอกสารประจำตัว แรงงาน 3 สัญชาติ กัมพูชา ลาว เมียนมา ย้ำดำเนินการได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางาน ขอประชาสัมพันธ์ให้นายจ้าง สถานประกอบการที่มีแรงงานสัญชาติเมียนมา ซึ่งได้รับอนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 เร่งดำเนินการจัดทำหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง เพื่อนำเอกสารประจำตัวดังกล่าวไปขอรับการจัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล และขอรับการตรวจลงตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรอย่างถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เพื่อการได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ทั้งนี้ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2567
สำหรับการจัดทำเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางของแรงงานเมียนมา (เอกสารรับรองบุคคล Certificate of ldentity : CI) สามารถดำเนินการได้ ณ “ศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566” ซึ่งตั้งอยู่ 8 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ชลบุรี สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ นครสวรรค์ และจังหวัดสงขลา โดยทำตามขั้นตอนต่างๆ ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 ก่อนการเข้าศูนย์ฯ
จองคิวผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส (ที่ 7 eleven) – เลือกศูนย์บริการฯ ที่สะดวกเข้ารับบริการ นัดหมาย วัน เวลา และชำระค่าธรรมเนียม
ขั้นตอนที่ 2 การดำเนินการ ณ ศูนย์ฯ #เอกสารครบจบในวันเดียว
1. เดินทางไปยังศูนย์ฯ ตามวัน เวลา สถานที่ ที่ได้นัดหมาย เจ้าหน้าที่กรมการจัดหางานจะตรวจสอบหลักฐานแรงงาน ได้แก่ สำเนาบัตรหลักฐานการได้รับอนุญาตทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ที่มีเลขประจำตัวและเลขที่ใบอนุญาตทำงาน หลักฐานการประกันสุขภาพ และรูปถ่าย 1.5 นิ้ว จำนวน 2 รูป
2. เจ้าหน้าที่ทางการเมียนมา จะตรวจสอบหลักฐาน สัมภาษณ์ พร้อมจัดเก็บข้อมูล ออกเอกสารรับรองบุคคล (CI) และออกบัตรประจำตัวแรงงาน (OWIC)
3. เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง จัดเก็บอัตลักษณ์ ตรวจลงตราให้อยู่ชั่วคราว ทำการกรอกแบบฟอร์ม ตม.6 และ ตม.87 พร้อมแนบรูปถ่าย โดยต้องมีเอกสารรับรองบุคคล (CI) สำเนาบัตรหลักฐานการได้รับอนุญาตทำงาน สำเนาเอกสารนายจ้าง และหลักฐานการจัดเก็บอัตลักษณ์แล้ว (ถ้ามี) พร้อมชำระค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา 500 บาท
4. เจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน ให้คำปรึกษา แนะนำ เกี่ยวกับการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมปรับปรุงข้อมูลให้แก่แรงงานเมียนมา
ในส่วนแรงงานสัญชาติลาว ให้แรงงานติดต่อสถานเอกอัครราชทูตลาวประจำประเทศไทยเพื่อขอรับเอกสารเดินทางชั่วคราว (Laissez – Passer) ซึ่งเป็นเอกสารใช้สำหรับเดินทางกลับไปทำหนังสือเดินทางที่ประเทศลาว และหลังจากได้รับหนังสือแล้ว เมื่อเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทย แสดงเอกสารเดินทางชั่วคราว (Laissez – Passer) กับเจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง จะได้รับการตรวจลงตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568
แรงงานสัญชาติกัมพูชา มีแนวทางเดียวกันกับประเทศลาว โดยเพิ่มเติมการดำเนินการ
ผ่านระบบออนไลน์ www.cambodia-doe.com ลงทะเบียนเข้าใช้งาน แนบหลักฐานของแรงงาน อาทิ บัตรประชาชน ทะเบียนบ้านหรือหนังสือรับรอง รูปถ่าย เอกสารเดินทาง (TD) หรือหนังสือเดินทางฉบับเดิม (ถ้ามี) ซึ่งทางการกัมพูชาจะตรวจสอบข้อมูลของแรงงานผ่านระบบออนไลน์ และเมื่อตรวจสอบเบื้องต้นแล้วพบว่าเป็นคนกัมพูชา เจ้าหน้าที่ของทางการกัมพูชาจะติดต่อกลับไปตามข้อมูลที่ได้ลงทะเบียนเข้าระบบไว้
“ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กรณีนายจ้าง จ้างแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน จะมีความผิดทั้งนายจ้างและคนต่างด้าว โดยนายจ้าง/สถานประกอบการ ที่รับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยที่คนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงาน มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี ในส่วนคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และต้องถูกส่งกลับประเทศต้นทาง รวมถึงห้ามขอใบอนุญาตทำงานเป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับโทษ” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว
ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานจัดหางานพื้นที่ 1 -10 สำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694
ที่มา : สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว